Hacker รู้จักกันหรือยัง ?
สมัยนี้ใครๆ ก็พกอุปกรณ์สื่อสารกันคนละชิ้นสองชิ้น ทั้งมือถือ แทบเลต โน้ตบุ๊ค กลับบ้านยังมีเดสก์ทอปอีกต่างหาก ซึ่งการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่งคือเรื่องของความปลอดภัย .. แล้วใครกันล่ะที่ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ไม่ปลอดภัย นั่นก็คือกลุ่มคนที่เรารวมๆ เรียกกันจนคุ้นเคยว่า Hacker นั่นเองครับ
Hacker อธิบายแบบกำปั้นทุบดินก็คือผู้ที่ทำการ Hacking นั่นเอง ซึ่ง Hacking หรือการเจาะระบบ คือ การเจาะเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างผิดกฎหมาย เมื่อก่อนการเจาะเข้าใช้ระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต จะใช้คำว่า Cracking (Cracker) ส่วนคำว่า Hacking (Hacker) จะหมายถึงผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์และ ซอฟต์แวร์อย่างเชี่ยวชาญแต่ในปัจจุบันกลับใช้คำว่า Hacking (Hacker) ในทางลบ
ประเภทของ Hacker
– Hacker
– Cracker
– Script kiddy
– Spy
– Employee
– Terrorist
Hacker (แฮกเกอร์) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
– สายขาว หรือด้านบวกภาษาฝรั่งเรียกว่า White Hat Hacker
กลุ่มนี้จะคอยช่วยสำรวจเครือข่ายเพื่อหาช่องโหว่หรือสิ่งแปลกปลอม เพื่อการพัฒนาหรือปรับปรุงระบบให้มีความปลอดภัย หน้าที่ ค้นหาจุดอ่อน และแก้ไขก่อนเกิดเหตุไม่พึงประสงค์
– สายดำ หรือด้านลบภาษาอังกฤษเรียก Black Hat Hacker
คือผู้ที่พยายามหาวิธีการ หรือหาช่องโหว่ของระบบ ลักลอบเข้าสู่ระบบ ทำการล้วงความลับ หรือแอบดูข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงการทำลายข้อมูลข่าวสารเพื่อทำความเสียหายให้กับองค์กร
Cracker (แคร๊กเกอร์)
คือผู้ที่พยายามทำลายระบบ ต่างจาก Hacker ตรงที่ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่พบเพื่อทำลาย สร้างปัญหา หรือหยุดการทำงานของระบบ และเป็นกลุ่มที่พยายามแข่งกับ cracker คนอื่นเพื่อแสดงความสามารถ
Script kiddy (สคริปต์คิดดี้)
คือกลุ่มที่ยังไม่ค่อยมีความชำนาญในการแฮกมากนัก ไม่สามารถเขียนโปรแกรมในการเจาะระบบได้เอง อาศัย Download พวกเครื่องมือช่วยเหลือจากอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่เป็นมือใหม่ที่อยากทดลองเป็นแฮกเกอร์ มักไม่เข้าใจในเทคโนโลยีที่ตัวเองใช้ เป้าหมายการโจมตีมักเป็นผู้ใช้งานหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป
Spy (สายลับ)
คือบุคคลที่ถูกจ้างเพื่อเจาะระบบและขโมยข้อมูล การโจมตีจะเลือกเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง โดยพยายามไม่ให้ผู้ถูกโจมตีรู้ตัว ผู้จะเป็น Spy ได้ต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญสูงมาก
Employee (พนักงาน)
คือพนักงานในองค์กรเอง ซึ่งอาจมีแรงจูงใจจาก
– เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีจุดอ่อน แล้วดำเนินการแก้ไข
– เพื่อแสดงความสามารถของตัวเองเนื่องจากถูกประเมินค่าต่ำเกินไปหรืออาจเกิดความไม่พอใจในการพิจารณาผลงาน
– เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น ถูกจ้างจากคู่แข่ง
Terrorist (ผู้ก่อการร้าย)
คือกลุ่นักเจาะระบบที่มีความชำนาญสูงคาดเดาวิธีการได้ยาก มีเป้าหมายไม่แน่นอนอาจเป็นระบบเล็กๆ หรือขนาดใหญ่ก็ได้ และบางกลุ่มโจมตีเพื่อหารายได้สนับสนุนการก่อการร้าย เช่น หลอกลวง ให้บริจาค หรือขโมยข้อมูลบัตรเครดิตเป็นต้น
จะเห็นได้ว่ากลุ่มนักเจาะระบบหรือที่เราเรียกรวมๆ ว่า Hacker นั้นมีทั้งดี และ ไม่ดีปะปนกันไป ซึ่งหลายๆ องค์กรเองจำเป็นต้องจ้างนักเจาะระบบเก่งๆ ไว้เพื่อตรวจสอบว่าระบบสื่อสารและคอมพิวเตอร์ขององค์กรนั้นมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงหรือไม่ ก่อนจะเกิดเหตุร้ายขึ้นกับระบบ
——————————————