ย้อนตำนาน Nokia อดีตยักษ์ใหญ่ไอที
น้องๆ เด็กๆ ที่อายุสิบกว่าๆ อาจไม่ค่อยคุ้นหูกับแบรนด์ Nokia เท่าใดนัก แต่ถ้าหากใครที่อายุเกิน 20 ปีขึ้นไป เชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Nokia เพราะในยุคหนึ่งนี่คือแบรนด์โทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งของโลกแบบทิ้งอันดับสองไม่เห็นฝุ่น เป็นแบรนด์ที่พาให้คนทั้งโลกต้องหันไปมองประเทศฟินแลนด์ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท Nokia นั่นเอง
โนเกียไม่ได้เริ่มธุรกิจด้านอิเล็กทรอนิคเป็นพื้นฐานอย่างแรกของบริษัท แต่ได้เปิดบันทึกหน้าแรกของประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษ โดยมีวิศวกร Fredrik Idestam เป็นเจ้าของ ย้อนเวลากลับไปยังปี ค.ศ. 1865 บริษัทโนเกียได้ก่อตั้งขึ้นบนริมฝั่งแม่น้ำ Nokia (โนเกีย) แม่น้ำสายใหญ่ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย ป่าไม้ และทะเลสาบนับว่าเป็นดินแดนที่เหมาะสมอย่างมากในการทำธุรกิจ เยื่อกระดาษในย่านนี้ และกลายมาเป็นโรงงานผู้ผลิตเยื่อกระดาษรายใหญ่ที่เติบโต อย่างรวดเร็ว น่าเสียดายที่ Idestam ยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอในการทำงานด้านธุรกิจ จึงจำเป็นต้องหยิบยืมเทคโนโลยีมาจากประเทศเยอรมันในปี 1866 แต่นั่นก็ช่วยทำให้เขาพัฒนาบริษัทขึ้น
หลังจากนั้น Nokia ได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคของอิเล็กทรอนิคของโนเกียได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปี 1977 ภายใต้การดูแลของ Kari Kairamo ประธานบริษัทซึ่งได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกา แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้านี้ที่จะมีหัวเอนไปทางรัสเซียโดยผลิตสินค้าส่งออก ได้แก่สายเคเบิล ให้กับ ประเทศรัสเซีย Kairamo นำแนวคิดแบบตะวันตกและแหวกแนวมาประยุกต์มุ่งเน้นให้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิคให้เข้ากับยุคแห่งพลังงานจนกลายมาเป็นธุรกิจหลักของโนเกียในยุคนี้เป็นต้นมา มีการผลิตโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ออกมาเบิกทางในตลาด ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการติดอันดับผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของยุโรปเลยทีเดียว
ต่อมา Nokia ก้าวมาสู่ยุคแห่งการสื่อสารไร้สายภายใต้การนำของรองประธานกรรมการอาวุโสและกรรมการบริหารการเงิน Jorma Ollila ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานตั้งแต่ปี 1992 – 1999 และ CEO ของโนเกียในปี 1999 แนวคิดของ Ollila ภายใต้การดูแลของ Kairamo นั้น ทำให้โนเกียกับโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
โดยในยุคแรกนั้นจะเป็น NMT Mobile Phone Standard (Nordic Mobile Telephony) หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่อนาล็อกรุ่นแรกนั่นเอง และได้รับความนิยมอย่างสูงเมื่อเผยโทรศัพท์ NMT รุ่นแรกในปี 1987 โดยมีสโลแกน “Connecting People” กับแนวคิดที่ต้องการเปิดอิสระและความต่อเนื่องในการติดต่อสื่อสาร จนกระทั่งกลายมาเป็นคำที่อยู่ในใจของผู้รักโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันกันถ้วนหน้า
ไม่นานระบบเครือข่ายที่ดีขึ้นก็เป็นที่ต้องการในสังคม โนเกียจึงพัฒนาเครือข่าย GSM ขึ้นเป็นครั้งแรกให้กับ Radiolinja บริษัทของฟินแลนด์ เมื่อปี 1989 ณ จุดนี้เองที่ Nokia 1011 บรรพบุรุษของบรรดาโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคปัจจุบันได้ออกมาสู่สายตาของทุกคนเป็นครั้งแรกในปี 1992 จากนั้นโนเกียก็ได้ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจหลักนับแต่นั้นเป็นต้นมา
โนเกียไม่ได้ผลิตเพียงแค่โทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น แต่ยังพัฒนาอุปกรณ์เสริมและเทคโนโลยีต่างๆไปพร้อมๆกันในตัว แนวคิดแรกที่ถือว่าโนเกียเป็ยผู้บุกเบิกเลยก็คือ ความสามารถในการเปลี่ยนหน้ากากซึ่งได้กลายเป็นลูกเล่นหลักของโทรศัพท์เคลื่อนที่จากโนเกียในเวลาต่อมา นอกจากนี้เทคโนโลยีการสนทนาอย่าง Push-to-Talk (PTT) กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็มาจากโนเกียอีกเช่นกัน
วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2006 บริษัท Siemens AG ได้เข้ารวมกับโนเกียในการพัฒนาธุรกิจเครือข่าย มุ่งหวังจะกลายเป็นบริษัทเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด โดยมีส่วนแบ่งเท่าเทียมกันที่ร้อยละ 50 และอยู่ในนามของ Nokia Siemens Networks แต่ภายหลังทางโนเกียได้เข้าซื้อหุ้นส่วนที่บริษัท Siemens AG ได้ถืออยู่คืนทั้งหมดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2013 ด้วยมูลค่า 1,700 ล้านยูโร (ราวๆ 58,000 บาท) [5] และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Nokia Solutions and Networks (NSN)
โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว Nokia กลายเป็นโทรศัพท์มือถือที่มียอดขายอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องยาวนานหลายปี ใครที่จะคิดซื้อโทรศัพท์มือถือ คิดอะไรไม่ออกบอก Nokia กันเลยทีเดียว แต่แล้วด้วยการยึดติดกับระบบปฎิบัติการ Symbian จนทำให้ปรับตัวไม่ทันกับกระแสโลกที่เริ่มไหลไปทางหน้าจอไร้ปุ่มกดแบบเต็มตัว
สุดท้ายเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 2013 โนเกียต้องขายกิจการด้านโทรศัพท์ให้ไมโครซอฟท์ทั้งหมด ในราค 7.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในวันที่ 25 เมษายน 2557 ไมโครซอฟท์ได้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ โมบาย ซึ่งจะเป็นในฐานะบริษัทลูก
วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 โนเกียได้หมดสัญญาผูกพันกับทางไมโครซอฟท์ ที่ห้ามดำเนินการจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในชื่อโนเกีย และได้จัดการมอบสิทธิ์ในการใช้แบรนด์และเทคโนโลยีที่รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ให้กับทาง HMD global เป็นตัวแทนในการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนและแท๊บเลตระบบปฏิบัติการ Android
แบรนด์ Nokia ในปัจจุบันกลายเป็นแบรนด์ที่กลุ่ม HMD global พยายามจะฟื้นตำนานยักษ์ใหญ่รายนี้ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง แต่ดูเหมือนกระแสตอบรับจะขุนไม่ขึ้นสักเท่าไหร่ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาสำหรับคนในวงการไอที ที่ต้องมองตลาดให้ขาดและปรับตัวให้เร็วมิฉะนั้นอาจพลาดเหมือนยักษ์อย่าง Nokia ก็เป็นได้
——————————————